Lemon8 Video Downloader

The easiest way to download video and gallery from Lemon8 app

พินัยกรรมคืออะไร มีกี่แบบ?

พินัยกรรมคืออะไร มีกี่แบบ?

Desktop: Right-Click and select "Save link as..." to download.

PHOTOS
พินัยกรรมคืออะไร มีกี่แบบ? JPEG Download

ก็เป็นเรื่องที่มีคนเคยสอบถามทนายเข้ามาในเรื่องปัญหาความสมบูรณ์ของพินัยกรรม ที่เมื่อทางทายาทได้นำพินัยกรรมไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่แล้วเจ้าหน้าที่แจ้งว่าพินัยกรรมฉบับนี้เป็นโมฆะ โดยเมื่อทนายได้ตรวจสอบเอกสารพินัยกรรมที่ส่งมาให้ก็พบว่า พินัยกรรมฉบับนั้นตกเป็นโมฆะด้วยเหตุที่ผู้รับพินัยกรรมเป็นบุคคลเดียวกันกับพยาน ในวันนี้ทาง S&L จึงจะมาพูดถึงภาพรวมของพินัยกรรมว่าคืออะไร มีกี่ประเภท เพื่อเป็นการป้องกันสิทธิและให้การจัดการทรัพย์สินเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ทำพินัยกรรมที่แท้จริง ซึ่งในโอกาสหน้าจะได้มีการเจาะลึกถึงสาระสำคัญของพินัยกรรมแต่ละประเภทอีกครั้ง

📄 พินัยกรรมคืออะไร 

ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1646 "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะก่อให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้" ทั้งนี้ตามราชบัณฑิตยสภาได้ให้ความหมายของพินัยกรรมไว้ว่า  “คำสั่งของบุคคลที่กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตน หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายแล้ว"  โดยจะเห็นได้ว่าพินัยกรรมนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการคือ 

1.ต้องเป็นการแสดงเจตนาเผื่อความมรณะไว้ ว่าหากตนถึงแก่ความมรณะจะจัดการทรัพย์สินของตนหรือในการอื่นเป็นเช่นไร 

2.ต้องเป็นลักษณะคำสั่งสุดท้าย คือไม่ใช่เป็นแค่เพียงลักษณะที่เป็นการอ้อนวอนขอร้องเท่านั้น 

3.ต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด แบบของพินัยกรรมนั้นเมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะพบได้ว่าพินัยกรรมประกอบด้วย 5 แบบ ที่ผู้ทำพินัยกรรมสามารถเลือกทำตามได้คือ

1️⃣ พินัยกรรมแบบธรรมดา ตามแพ่งมาตรา 1656 โดยจะต้องทำเป็นหนังสือไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์หรือเขียน ลงรายละเอียดพินัยกรรมพร้อมกับลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมขึ้น พร้อมลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานจำนวน 2 คน ซึ่งการทำพินัยกรรมแบบธรรมดานี้สามารถร่างพินัยกรรมได้เองหรือให้คนอื่นร่างพินัยกรรมให้ก็ได้ ทั้งยังสามารถทำได้ที่ไหนก็ได้

2️⃣ พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ตามแพ่งมาตรา 1657 โดยในกรณีนี้ผู้ทำพินัยกรรมต้องเป็นผู้จัดทำเองไม่สามารถให้ผู้อื่นจัดทำแล้วตนลงลายมือชื่อเช่นกรณีพินัยกรรมแบบธรรมดา ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนพินัยกรรมเองทั้งฉบับพร้อมลงวันเดือนปีที่เขียนพินัยกรรมและลงลายมือชื่อกำกับไว้

3️⃣ พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ตามแพ่งมาตรา 1658 เป็นกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมไปแจ้งเจตนาข้อความพินัยกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบและอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง หากเป็นข้อความที่ถูกต้องผู้ทำพินัยกรรมและพยานก็จะลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ข้อความที่พนักงานเจ้าหน้าที่จดไว้นั้นก็จะลงลายมือชื่อ และลงวัน เดือน ปี แล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ ซึ่งในการทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนี้ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปดำเนินการทำที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอของแต่ละจังหวัด แต่ทั้งนี้ก็สามารถทำนอกสำนักงานเขตหรือนอกที่ว่าการอำเภอได้

4️⃣ พินัยกรรมแบบเอกสารลับ ตามแพ่งมาตรา 1660 เป็นกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมนำเอาพินัยกรรมฉบับที่ได้จัดทำมาแล้วพร้อมลงลายมือชื่อในพินัยกรรม พร้อมปิดผนึกและลงลายมือชื่อคาบรอยปิดผนึก ไปแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และพยานสองคนว่าเอกสารดังกล่าวเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้เขียนเองก็ต้องแจ้งถึงชื่อและภูมิลำเนาผู้เขียนด้วย โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะจดถ้อยคำและวันเดือนปีที่นำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซองพร้อมประทับตราและลงลายมือชื่อของพนักงานเจ้าหน้าที่และพยานเป็นสำคัญ

5️⃣ พินัยกรรมแบบด้วยวาจา ตามแพ่งมาตรา 1663 เป็นกรณีที่มีพฤติการณืที่ทำให้ผู้ทำพินัยกรรมไม่สามารถจะจัดทำตามแบบพินัยกรรมอื่นได้ โดยผู้ทำพินัยกรรมต้องแจ้งเจตนาต่อหน้าพยาน 2 คน ซึ่งพยานต้องไปแจ้งเจตนาดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า โดยแจ้งทั้งเจตนาที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้และแจ้งวันเดือนปี สถานที่ และพฤติการณ์พิเศษที่ทำพินัยกรรมนั้น โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะจดข้อความที่พยานแจ้งพร้อมให้พยานทั้งสองลงลายมือชื่อรับรอง ทั้งนี้ในเรื่องความสมบูรณ์ของพินัยกรรมด้วยวาจายังสิ้นไปเมื่อพ้น 1 เดือนนับแต่ที่ผู้ทำพินัยกรรมกลับสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรมแบบอื่นได้ 

✈️🇹🇭 กรณีชาวต่างชาติซึ่งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งตามพระราชบัญญัติกฎหมายขัดกันมาตรา 40 นั้นได้กำหนดให้  “บุคคลจะทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายสัญชาติกำหนดไว้ก็ได้ หรือจะทำตามแบบที่กฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรมกำหนดไว้ก็ได้”  หรือก็คือชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยสามารถเลือกได้ว่าจะทำพินัยกรรมตามแบบกฎหมายสัญญาที่ตนถืออยู่ หรือสามารถเลือกทำพินัยกรรมตามแบบของกฎหมายไทยก็ได้

✈️🧳 กรณีชาวไทยซึ่งอยู่ในต่างประเทศนั้นแพ่งมาตรา 1667 ก็กำหนดให้ชาวไทยที่อยู่ต่างประเทศสามารถเลือกได้ว่าจะทำพินัยกรรมตามแบบของกฎหมายประเทศไทย โดยสำหรับการทำพินัยกรรมที่จะต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่นั้นต้องดำเนินการติดต่อผ่านทางพนักงานทูตหรือกงสุลฝ่ายไทย หรือพนักงานที่มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรมแทน หรือสามารถเลือกที่จะทำพินัยกรรมตามแบบของประเทศนั้นก็ได้ 

ซึ่งในการพิจารณาที่จะเลือกทำพินัยกรรมตามแบบประเทศไทยหรือตามแบบประเทศอื่นนั้น ทั้งกรณีที่ชาวต่างชาติที่อยู่ภายในประเทศไทยและชาวไทยที่อยู่ต่างประเทศ อาจจะพิจารณาปัจจัยจากทางด้านข้อกฎหมายในประเทศที่ตนอยู่ขณะนั้น ปัจจัยด้านแหล่งที่อยู่หลัก ปัจจัยด้านทรัพย์สินส่วนใหญ่อยู่ประเทศไหน ซึ่งหากทรัพย์สินและที่อยู่หลักอยู่ที่ประเทศไหนทั้งหมดหรือเป็นส่วนมาก การทำพินัยกรรมก็ควรเป็นไปตามกฎหมายและแบบพินัยกรรมตามประเทศนั้นก็จะสะดวกในการใช้บังคับและสอดคล้องความจริง โอกาสที่จะโต้แย้งกันเรื่องความสมบูรณ์ของพินัยกรรมนั้นมีน้อยกว่า หรือจะทำพินัยกรรมในลักษณะที่มีความสมบูรณ์ทั้งคู่ก็ย่อมได้

#มรดก #กฎหมายมรดก #ฟ้องผี #ผู้จัดการมรดก #กฎหมายน่ารู้